ใบขับขี่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกท่านต้องมี นอกจากมีจะรถยนต์แล้วใบขับขี่ก็ต้องมีด้วย ถ้าเราไม่มีใบขับขี่จะเริ่มยังไงดีล่ะ วันนี้ #Thaiautofilm ได้นำข้อมูลและขั้นตอน “7 สิ่งที่ต้องทำก่อนไปสอบใบขับขี่” ถ้าชอบอย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้เราด้วยนะครับ
1.จองวันสอบก่อนล่วงหน้า
.
อันดับแรกให้เราติดต่อจองวันสอบได้ที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะมีสำนักงานในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานขนส่งพื้นที่เขต 1 (บางขุนเทียน) , สำนักงานขนส่งพื้นที่เขต 2 (ตลิ่งชัน) , สำนักงานขนส่งพื้นที่เขต 3 (สุขุมวิท 62) , สำนักงานพื้นที่ขนส่ง เขต 4 (หนองจอก) และสำนักงานใหญ่พื้นที่ 5 (จตุจักร) ส่วนในเขตต่างจังหวัดก็สามารถหาจองได้ที่สำนักงานขนส่งต่างจังหวัดเช่นกันครับ เอาเป็นว่า เพนกวินเเฟรงค์จะมาแนะนำวิธีการจอง 3 ช่องทางง่ายๆ ดังนี้
จองคิวอบรมด้วยตัวเองที่กรมขนส่ง (สาขาใกล้บ้านหรือตามสะดวก)
โทรจองคิวผ่านทางโทรศัพท์ เบอร์ 02-2718888 หรือเบอร์ 1584
ยื่นจองคิวสอบใบขับขี่รถยนต์ออนไลน์ได้ด้วย
จองคิวสอบใบขับขี่กับเอกชน (ที่ผ่านการรับรองจากกรมขนส่งทางบก)

2.นำเอกสารที่ต้องใช้ไปให้ครบ
.
เราจะขาดเอกสารที่สำคัญไม่ได้เลย !! เพราะนั่นเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า คุณมีคุณสมบัติในการเข้าสอบใบขับขี่หรือไม่? เช่น อายุและสายตา เป็นต้น เราจะต้องยื่นเอกสารต่างๆ ให้กับทางเจ้าหน้าที่ในวันสอบจริง ซึ่งเอกสารที่เราจะต้องเตรียมสอบใบขับขี่ จะมีตามนี้ครับ
บัตรประชาชนตัวจริง
สำเนาบัตรประชาชน 1 ชุด
ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 1 เดือน (จากคลินิก หรือโรงพยาบาลก็ได้)
ใบรับรองการอบรม (กรณีอบรมนอกกรมขนส่ง)

3.เตรียมร่างกายให้พร้อม
.
เชื่อว่าหลายคนที่สอบใบขับขี่ไม่ผ่านนั้น ก็มาจากสาเหตุร่างกายไม่พร้อม เนื่องจากบางคนป่วยหนักขณะสอบ หรือบางคนก็นอนไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถใช้สมาธิสอบภาคปฏิบัติได้ ฉะนั้นเราทุกคนจะต้องเตรียมความพร้อมร่างกายให้ดีซะก่อน อย่างเช่น นอนหลับให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการดูแลตัวเองครับ หลังจากนั้นร่างกายของคุณก็จะปรับตัวได้ดี นอกจากนี้เขาก็จะมีให้ทดสอบสมรรถนะทางร่างกายด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็น ทดสอบการมองเห็น ทดสอบสายตาทางลึก ทดสอบสายตาทางกว้าง และทดสอบปฏิกิริยาเท้าครับ

4. อ่านข้อสอบให้ชัวร์อีกครั้ง
.
เมื่อจะใกล้จะถึงวันสอบจริง เราก็อย่าลืมอ่านข้อสอบใบขับขี่ให้แน่ใจซะก่อน เพื่อทำให้เรามั่นใจและทำข้อสอบได้ผ่านชัวร์ ๆ โดยข้อสอบจะมีทั้งหมด 50 ข้อ แบบปรนัย ให้ตัวเลือก (ก-ง) และต้องทำให้ได้ 45 ข้อขึ้นไป ภายในระยะเวลา 60 นาที จึงถือว่าคุณสอบผ่าน แต่ถ้าเพื่อนๆ ยังห่วงเรื่องของการทำข้อสอบ ก็ไม่ต้องกังวลเลยนะครับ วันนี้เพนกวิน Frank มี เเนวข้อสอบใบขับขี่ 2562 มาฝากเพื่อนๆ กันด้วยนะ รับรองไม่ยากอย่างที่คิด
อ่าน! สัญลักษณ์ป้ายจราจรและเครื่องหมายที่สำคัญ เช่น ป้ายจราจรบังคับ ป้ายจราจรเตือน ป้ายจราจรแนะนำ และเครื่องหมายบนพื้นทาง
อ่าน! วิธีการขับรถให้ปลอดภัย เช่น หากรถเสียหลักจะต้องทำยังไง? หรือวิธีการเปลี่ยนช่องจราจรบนท้องถนน
อ่าน! วิธีดูแลรถยนต์เบื้องต้น เช่น การเติมเเบตเตอรี่ การเติมถังพักหม้อน้ำ การเช็คสภาพรถ และการขับรถลุยน้ำขณะน้ำท่วม เป็นต้น
อ่าน! กฎหมายทั่วไป เช่น อายุของใบขับขี่ชั่วคราว การเสียค่าปรับ การเปลี่ยนสีรถ ใบขับขี่หมดอายุ และการบรรทุกสิ่งของ เป็นต้น
อ่าน! มารยาทการขับรถทั่วไป เช่น การใช้แตรรถ การจอดรถ การเปิดไฟสูง และการให้ทางร่วม เป็นต้น

5.ฝึกท่าสอบปฏิบัติด้วยก็ดี
.
สำหรับการสอบภาคปฏิบัติ ก็เป็นหนึ่งสุดหินในการสอบใบขับขี่เลยครับ ถ้าเราฝึกซ้อมมาก่อนก็จะช่วยทำให้เราสอบผ่าน และไม่ตื่นเต้นในวันสอบจริงอีกด้วย โดยจะมีทั้งหมด 3 ท่าด้วยกัน ตามนี้
ขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง เพียงให้เราเดินหน้ารถในระยะ 12 เมตร และถอยหลัง โดยห้ามขับชนหรือเบียดเสาเด็ดขาด ถ้าทำได้ก็ผ่านด่านต่อไปได้เลย
ขับรถเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า ต่อมาจะเป็นท่าตกม้าตายง่ายสุด เพราะเราต้องเว้นระยะห่างให้พอดีกับทางจอดขนาน ห่างไม่เกิน 25 ซม. อีกทั้งล้อหน้าและล้อหลังต้องทับเส้นจอดด้วยนะ
ขับรถถอยเข้าซอง สุดท้ายแล้วจะเป็นด่านปราบเซียน ให้เราเข้าจอดในซองโดยห้ามเปลี่ยนเกียร์เกินกว่า 7 ครั้ง โดยห้ามชนเสาหรือฟุตบาธเด็ดขาด และกระจกข้างต้องไม่เกินเส้นที่กำหนดไว้

6.อย่าลืมเตรียมรถไปสอบด้วย
.
แนะนำให้เรานำรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ไปด้วยนะครับ เนื่องจากเราจะได้คุ้นชินกับรถที่เราเคยขับ และซ้อมประจำครับ แต่ถ้าใครที่ไม่มีรถของตัวเองแล้วอยากสอบใบขับขี่ ทางกรมการขนส่งทางบกแต่ละพื้นที่ จะมีรถให้เช่าขับด้วยนะ คิดราคาเช่ารอบละ 100 บาท มีให้เลือกทั้งสองแบบ ได้แก่ เกียร์ธรรมดา และเกียร์ออโต้ครับ สามารถติดต่อในบริเวณพื้นที่เช่ารถสอบได้เลย แต่ข้อเสียของการเช่ารถของขนส่งกรณีที่เราไม่ได้เอารถมาเอง จะทำให้เรารู้สึกเกิดความประหม่าและสอบผิดท่าได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้รถเช่าจริงๆ หลังจากสตาร์ทเครื่องยนต์ควรเช็กอุปกรณ์ในรถให้ดีก่อน จะได้คุ้นเคยกับตัวรถขณะสอบภาคปฏิบัติในวันจริง

7.เตรียมเงินค่าธรรมเนียมทำใบขับขี่
.
สุดท้ายแล้วในการเตรียมสอบใบขับขี่ ให้เราพกเงินสดติดตัวไปด้วยกรณีทำใบขับขี่ครับ พอหลังจากเราทำข้อสอบภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีผ่านแล้ว ก็จะได้เอกสารไปทำใบขับขี่ (ชั่วคราว) ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมใบขับขี่แต่ละประเภทจะต่างกัน และจะมีค่าคำขอเพิ่มอีก 5 บาทด้วย เราลองมาดูกันครับ
ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว อายุ 2 ปี ค่าธรรมเนียม 200 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็นเงิน 205 บาท
ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราว อายุ 2 ปี ค่าธรรมเนียม 100 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็นเงิน 105 บาท
ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล อายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 500 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็นเงิน 505 บาท
ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล อายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 250 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็นเงิน 255 บาท
