วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อคุณขับรถบนท้องถนน อาจมีการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนเดินทางและการเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้บาดเจ็บอย่างถูกวิธีถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้อาการบาดเจ็บบรรเทาลง และสามารถส่งต่อผู้ป่วยแก่แพทย์ผู้ชำนาญการได้ทันท่วงที

หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ต้องคํานึงถึงสิ่งใดบ้าง

1.ผู้ช่วยเหลือ ควรมีหลักการช่วยเหลือ ดังนี้

  • ความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุ

เป็นสิ่งสําคัญที่ต้องคํานึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนการเข้าไปช่วยเหลือเพราะอาจถูกลูกหลงไปด้วย เช่น เหตุไฟช็อต เป็นต้น

  • ใช้สายตาสํารวจดู

โดยสํารวจตามส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างมีสติ และห้ามเคลื่อนย้ายถ้าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บของอวัยวะต่างๆ ซึ่งผู้ช่วยเหลืออาจมองไม่เห็น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทันทีโดยไม่ถูกวิธีอาจยิ่งทําให้ผู้ป่วยบาดเจ็บมากขึ้นหรือร้ายแรงกว่านั้นได้

  • ผู้บาดเจ็บต้องอยู่ในที่ปลอดภัยก่อน

ควรปฐมพยาบาลต่อเมื่อได้นําตัวผู้ป่วยออกมาจากสถานที่เหล่านี้ เช่น ในน้ำ หรือในกองไฟ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวผู้ป่วยและตัวผู้ช่วยเหลือเอง เป็นต้น

  • ช่วยเหลือด้วยความนุ่มนวลและระมัดระวัง

โดยให้การช่วยเหลือตามลําดับความสําคัญของการมีชีวิต หรือตามความรุนแรงที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

2.พิจารณาอาการบาดเจ็บของผู้ป่วย โดยเรียงลําดับความร้ายแรงของอาการบาดเจ็บได้ดังนี้

  • วิธีสํารวจการบาดเจ็บเบื้องต้น

ตรวจดูความรู้สึกตัวโดยการเรียกหรือตีที่ไหล่เบาๆ ว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวไหม

  • ตรวจดูทางเดินหายใจ

ดูว่ามีเศษอาหารหรือฟันปลอมอยู่ในปากหรือเปล่าและถ้าหายใจไม่สะดวกให้เปิดทางเดินหายใจ โดยใช้มือข้างหนึ่งดันหน้าผากและมืออีกข้างเชยคางให้หน้าผู้ป่วยแหงนขึ้นข้างบน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือหมดสติให้ตรึงกระดูกสันหลังส่วนคอและใช้วิธียกขากรรไกรขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ

  • ตรวจดูการหายใจ

สําหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหรือคอให้ใช้มือข้างหนึ่งดันหน้าผากและมืออีกข้างเชยคางให้หน้าผู้ป่วยแหงนขึ้นข้างบน จากนั้นตรวจดูโดยการเอียงหน้าก้มลงไปเอาแก้มเข้าไปใกล้จมูกผู้ป่วยและสังเกตว่ามีลมมาสัมผัสไหม หูฟังเสียงการหายใจ รวมถึงใช้ตามองดูหน้าอกว่ากระเพื่อมขึ้นลงตามการหายใจไหม และดูว่าคนป่วยมีการหายใจเร็วหรือช้าด้วย (ผู้ใหญ่หายใจ 12-20 ครั้งต่อนาที)

  • ตรวจชีพจร

ดูว่าหัวใจเต้นหรือไม่ (ผู้ใหญ่ 60-100 ครั้งต่อนาที) ผู้ป่วยที่รู้สึกตัวให้จับชีพจรที่ข้อมือหรือข้อพับแขนส่วนผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวให้จับชีพจรที่คอ

 

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับอุบัติเหตุ

แขนหรือขาหัก

แขนหักหรือขาหักมีอาการที่สังเกตเห็นได้ เช่น พบกระดูกโผล่ออกผิวหนัง เลือดทะลักออกจากแผลและไหลไม่หยุด แม้จะกดแผลห้ามเลือดอยู่หลายนาที หรืออาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ลำคอ และหลัง ผู้ช่วยเหลือสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • ในกรณีที่ต้องห้ามเลือด กดแผลให้แน่นด้วยผ้าสะอาดจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • การประคบน้ำแข็ง หรือยกแขนขึ้นเหนือหัวใจ อาจช่วยให้แผลบวมน้อยลงได้
  • หากเสื้อผ้าที่ผู้ป่วยสวมใส่ปกปิดแขนบริเวณที่หัก ให้ถอดหรือตัดเสื้อผ้าออกแต่ห้ามขยับแขนเด็ดขาด
  • สำหรับอาการแขนหักที่ไม่รุนแรงมากนัก ให้ดามแขนโดยพันม้วนกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือไม้บรรทัด ด้วยเทปที่ใช้สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือดามแขนของผู้ป่วยโดยใช้ผ้าพันแผลพันไว้กับไม้กระดาน
  • หากพบว่าผู้ป่วยขาหัก ให้ผู้ช่วยเหลือดามที่ขาโดยใช้ผ้าพันแผลพันรอบหัวเข่า ข้อเท้า ในส่วนบน และล่างของบริเวณที่หักกับไม้กระดานหรือวัสดุดาม หรือดามไว้กับขาอีกข้างที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการดามไม่ได้ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดที่บริเวณแขนหรือขา
  • หากผู้ป่วยมีอวัยวะหักเป็นแผลเปิดที่มีชิ้นส่วนของกระดูกโผล่ออกมา พยายามอย่าแตะต้อง และให้ใช้ผ้าพันแผลปราศจากเชื้อโรคพันไว้ และรอความช่วยเหลือทางการแพทย์
  • ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มใด ๆ เนื่องจากอาจต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด
  • รีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยทันที ซึ่งแพทย์อาจเอกซเรย์ เข้าเฝือกแขน หรือผ่าตัดในกรณีที่กระดูกทะลุผิวหนัง เพื่อฟื้นฟูกระดูกส่วนที่ที่แตกหัก

หัวแตก

ใบหน้าและหนังศีรษะเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดใกล้ผิวชั้นนอกมาก ดังนั้น รอยแผลหัวแตกมักจะมีเลือดไหลออกมาก ในกรณีที่บาดแผลลึกถึงกระโหลกศีรษะ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ในกรณีที่บาดแผลไม่สาหัส อาจปฐมพยาบาลห้ามเลือดได้เองที่บ้าน โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

  • กดแผลห้ามเลือด หากเป็นไปได้ให้ล้างมือ หรือสวมถุงมือกันเชื้อโรคทุกครั้ง
  • ให้ผู้ป่วยนอนลง หากมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่กับแผล ให้เอาออกให้หมด
  • ใช้ผ้าพันแผล หรือผ้าสะอาดกดแผลไว้ให้แน่น 15 นาที อย่าหยุดกดจนกว่าจะครบเวลา หากเลือดซึมผ่านผ้า ให้ใช้ผ้าสะอาดผืนใหม่แปะแล้วกดต่อ
  • ในกรณีที่บาดแผลค่อนข้างสาหัสและเลือดยังไม่ยอมหยุดไหล ให้กดแผลต่อไปเรื่อย ๆ ระหว่างรอความช่วยเหลือ พยายามให้แผลสะอาดและหลีกเลี่ยงไม่ให้บาดเจ็บซ้ำอีก
  • ในกรณีที่บาดแผลไม่ร้ายแรง หลังจากกดแผลไว้แล้ว 15 นาที เลือดมักจะหยุดไหลได้เอง หรืออาจไหลซึมอยู่บ้างประมาณ 45 นาที
  • หากผู้ช่วยเหลือสังเกตพบว่ามีอาการแตกร้าวของกระโหลก ให้ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค โดยห้ามออกแรงกดห้ามเลือดโดยตรง หรือหลีกเลี่ยงแตะต้องเศษเนื้อตายที่บริเวณบาดแผล
  • บาดแผลที่มีอาการบวม บรรเทาลงได้ด้วยการประคบน้ำแข็ง
  • เฝ้าสังเกตอาการหมดสติ หรือช็อก

เป็นลม

อาการเป็นลมเกิดขึ้นจากภาวะเลือดเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยหมดสติชั่วคราว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเป็นลมอาจทำได้ดังนี้

  • ในกรณีที่ตัวเรามีอาการเป็นลมซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการที่เกิดฉับพลัน เช่น รู้สึกหน้ามืด ตาพร่าลาย หรือเวียนศีรษะ ให้รีบล้มตัวนอนหรือนั่งพัก โดยขณะมีอาการให้นั่งในท่าโน้มศีรษะลงมาอยู่ระหว่างเข่าพร้อมกับหายใจเข้าลึกเต็มปอด หากรู้สึกดีขึ้นจึงค่อย ๆ ลุกขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรรีบลุกขึ้นเร็วจนเกินไปเนื่องจากอาจเป็นลมซ้ำได้
  • ในกรณีที่พบผู้ป่วยเป็นลม ควรช่วยจัดท่าทางให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ และยกขาขึ้นให้อยู่เหนือระดับหัวใจ (ประมาณ 30 เซนติเมตร) เพื่อให้โลหิตไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองได้ง่ายขึ้น รวมทั้งปลดเข็มขัด ปกคอเสื้อ หรือเสื้อผ้าส่วนอื่น ๆ ที่รัดแน่น เพื่อช่วยลดโอกาสเป็นลมซ้ำ หากผู้ป่วยฟื้นขึ้น อย่าเพิ่งให้ลุกขึ้นเร็วจนเกินไป และให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานแพทย์หรือกู้ชีพ
  • สังเกตดูว่าผู้ป่วยอาเจียน และหายใจได้สะดวกดีหรือไม่
  • สังเกตการไหลเวียนโลหิต ซึ่งดูได้จากการหายใจ อาการไอ หรือการเคลื่อนไหว หากพบความผิดปกติว่าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือ แล้วทำ CPR (การปั๊มหัวใจ)ไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะมีสัญญาณชีพจรและกลับมาหายใจได้อีกครั้ง หรือเมื่อความช่วยเหลือมาถึง
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นลมล้มลงจนได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลฟกช้ำ หรือแผลที่มีเลือดออก ให้ดูแลบาดแผลและกดแผลห้ามเลือด
  • ให้ผู้ช่วยเหลือพาผู้ป่วยที่เป็นลมไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนจอแจ และให้ดมแอมโมเนีย หรือยาดม เพื่อบรรเทาอาการ โดยผู้ช่วยเหลืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าควบคู่ไปด้วยได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยยังไม่มีอาการดีขึ้น ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์

ขอความช่วยเหลือ

จากโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือใกล้สถานที่เกิดเหตุหรือโทร.1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

CR: หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ,First Aid ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยไว้ก่อนสาย