ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น หลายคนมักตื่นตระหนก ตกใจ กระวนกระวาย จนทำอะไรไม่ถูก สับสนกับเหตุการณ์ตรงหน้าว่าควรทำอย่างไรดีต่อจากนี้ ตวรติดต่อใคร และควรปฏิบัติตัวอย่างไรหลังเกิดอุบัติเหตุ วันนี้ Thaiautofilm มีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังจากเกิดอุบัติเหตุมาฝาก สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คือ
ตั้งสติ
1. พยายามตั้งสติ และอย่าตื่นตระหนก
เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้นไม่ว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ควรตั้งสติให้มากๆ จะช่วยทำให้สถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าราบรื่นขึ้น สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นการบอกปากคำให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เคลียร์กับคู่กรณี โทรติดต่อประกัน หรือโทรแจ้งหน่วยกู้ภัย เป็นต้น
ประเมินความรุนแรงของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
2. ประเมินความรุนแรงของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
หากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นนั้น มีคนได้รับบาดเจ็บทั้งคุณและคู่กรณี อันดับแรกให้สำรวจดูตัวเองก่อนว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ จากนั้นจึงตรวจสอบผู้โดยสารที่เหลือบนรถ รวมไปถึงสังเกตอาการบาดเจ็บของคู่กรณี หรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในครั้งนี้ด้วย เมื่อพบว่ามีผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุ อย่าเพิ่งเคลื่อนย้ายทันที ยกเว้นว่าผู้บาดเจ็บอยู่ในที่อันตรายจากรถที่สัญจรไปมา จากนั้นให้รีบโทรหาเบอร์โทรฉุกเฉิน พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุให้มากที่สุด ทั้งยานพาหนะ สถานที่เกิดเหตุ และจำนวนบุคคลผู้ได้รับบาดเจ็บ
ตัดสินใจว่าควรย้ายรถของคุณหรือไม่
3. ตัดสินใจว่าควรย้ายรถของคุณหรือไม่
หากเกิดอุบัติเหตุอย่าเพิ่งเคลื่อนย้ายรถยนต์ไปไหน หากใครมีป้ายสามเหลี่ยมฉุกเฉิน ให้นำมาวางให้ห่างจากด้านหลังรถประมาณ 20 เมตร หากอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณทางโค้ง ให้วางป้ายสามเหลี่ยมฉุกเฉินไว้ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อเตือนผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ และถ้าเป็นไปได้ ให้นำชิ้นส่วนรถออกจากถนนเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ถนนท่านอื่น หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย ให้จอดรถชิดข้างทางเพื่อไม่ให้กีดขวางทางจราจร และควรยืนรอเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือบริษัทประกันให้อยู่ชิดริมถนนด้านซ้ายให้มากที่สุดรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน
4. รายละเอียดต่างๆ ที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน
สิ่งที่ควรจำได้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไว้สำหรับแจ้งกับเจ้าหน้าที่ประกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่มาให้ความช่วยเหลือ ได้แก่
  • ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ขับขี่
  • ที่อยู่ของเจ้าของรถ ในกรณีที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของ
  • ชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ของบริษัทประกันภัยรถยนต์
  • หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
  • เลขที่ใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับขี่
  • หมายเลขจดทะเบียนรถ
  • ปีที่ผลิต ยี่ห้อรถ รุ่นรถ และสีรถที่เกิดอุบัติเหตุ
ถ่ายภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
5. ถ่ายภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
ถ่ายภาพอุบัติเหตุ ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ โดยควรถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของคุณ ถ่ายให้เห็นตำแหน่งของยานพาหนะคันอื่นที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุและความเสียหายของรถทุกคัน แต่หากไม่มีกล้องถ่ายรูป ให้บันทึกข้อมูลทั้งหมดลงบนกระดาษแทน นอกจากนี้รายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นไม่แพ้กัน เช่น ความเร็วรถที่ขับมาตอนนั้น พื้นผิวถนน สภาพอากาศ ทัศนวิสัย วิธีการขับขี่รถของคุณและคู่กรณี เป็นต้น
การเจรจาในประเด็นของอุบัติเหตุ
6. การเจรจาในประเด็นของอุบัติเหตุ
ให้ผู้ขับขี่เจรจาเกี่ยวกับรายละเอียดของอุบัติเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือตัวแทนที่มาจากบริษัทประกันภัยของคุณเท่านั้น อย่าเพิ่งเคลียร์กับคู่กรณีเอง แต่ให้ถามข้อมูลหลักๆ ที่จำเป็นของคู่กรณี เช่น ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ รถยนต์ที่ใช้เกิดเหตุ เป็นต้น
แจ้งตำรวจ
7. แจ้งตำรวจ
หลังเกิดเหตุควรแจ้งตำรวจทุกครั้ง แม้เป็นเพียงอุบัติเหตุเล็กน้อย หรืออีกฝ่ายยอมรับผิดก็ตาม มิฉะนั้นแล้วหากอีกฝ่ายแจ้งความในภายหลัง เจ้าหน้าที่จะสรุปว่าคุณเป็นฝ่ายหลบหนีและคุณจะเป็นฝ่ายผิดทุกกรณี หากเจ้าหน้าที่ยังไม่มาให้คุณไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูที่เกิดเหตุ และตีเส้นตำแหน่งรถ หากไม่สามรถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ ให้คุณทำหนังสือยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้เป็นหลักฐาน โดยลงชื่อยืนยันไว้ทั้งสองฝ่าย อย่าหลงเชื่อคู่กรณี หากอีกฝ่ายบอกว่าไม่ต้องแจ้งตำรวจ เพราะอีกฝ่ายอาจปฏิเสธความรับผิดชอบในภายหลัง หากคุณไม่มีเจ้าหน้าที่เป็นพยาน หรือหนังสือยืนยัน ตามกฏหมายจะถือว่าคำพูดของคุณอ่อนหลักฐาน
แจ้งบริษัทประกัน
8. แจ้งบริษัทประกัน
หากรถของท่านมีประกัน ให้ติดต่อบริษัทประกันเพื่อแจ้งอุบัติเหตุทันที ณ ที่เกิดเหตุ ท่านควรโทรแจ้งบริษัทประกันในทุกกรณี ไม่ว่าจะมีประกันประเภทใด และไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือถูก ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ ท่านไม่ควรตกลงรับผิดชอบหรือตอบรับค่าเสียหายใดๆ กับคู่กรณี จนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่บริษัทประกัน เนื่องจากบริษัทประกันจะเป็นผู้รับสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือรับผิดชอบค่าเสียหายแทนท่าน